ทีวีดิจิตอลคืออะไร
DIGITAL TV SYSTEM

ถ้าพูดถึง “ทีวีดิจิตอล” หรือทีวีดิจิทัล (Digital TV System) หลายคนอาจเคยผ่านตากับกระแสที่กำลังเป็นข่าวครึกโครมกันอยู่ในช่วงนี้ ว่าวงการทีวีไทยในบ้านเราจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งคำถามที่ตามมาก็คือ แล้วเจ้าทีวีดิจิตอล คืออะไร?? แล้วทีวีที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันเรียกว่าอะไร?? ทำไมจึงต้องเปลี่ยน

มองแบบง่ายๆก็เหมือนเมื่อครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงจากทีวีขาวดำ —>มาเป็นทีวีสีนั่นเอง เพียงแต่ในยุคนั้นการใช้ทีวีในแต่ละครัวเรือนยังมีจำนวนไม่มากนัก การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะคนที่ซื้อทีวีเครื่องใหม่ ก็จะเลือกซื้อแต่เครื่องทีวีสี จนกระทั่งทีวีขาวดำค่อยๆหายออกไปจากท้องตลาดในที่สุด

สำหรับระบบทีวีที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เรียกว่าทีวีอนาล็อก (Analog) เป็นการนำเอาสัญญาณภาพมาผสมกับสัญญาณวิทยุ โดยใช้สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินเป็นตัวส่งสัญญาณ ซึ่งตามบ้านก็จะใช้เสาอากาศรับสัญญาณที่เรียกกันว่า “เสาก้างปลา” หรือ “เสาหนวดกุ้ง” นั่นเอง ซึ่งข้อเสียของสัญญาอนาล๊อกคือถูกสัญญาณรบกวนได้ง่าย อาจทำให้รับภาพเสียงไม่ชัด

ทีวีดิจิตอล (Digital TV System) คือทีวีที่รองรับการออกอากาศในรูปแบบดิจิตอล ให้สัญญาณภาพและเสียง ที่มีคุณภาพดีกว่าแบบอนาล็อก และใช้คลื่นความถี่ที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยดิจิตอลทีวี จะใช้สัญญาณดิจิตอลที่ถูกบีบอัดและเข้ารหัสที่มีค่าเป็น “0” กับ “1” เท่านั้น ซึ่งในหนึ่งช่วงคลื่นความถี่จะสามารถนำมาส่งได้หลายรายการโทรทัศน์ พร้อมสัญญาณภาพและเสียงที่มีความละเอียดคมชัดมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ในต่างประเทศทั้งในยุโรป แอฟริกา และเอเชีย ได้เริ่มเปลี่ยนมาใช้สัญญาณโทรทัศน์แบบทีวีดิจิตอลแล้วมากกว่า 38 ประเทศ

ข้อดีของทีวีดิจิตอล นอกจากคุณภาพของสัญญาณภาพและเสียง ที่คมชัดขึ้นเนื่องจากสามารถส่งสัญญาณ FULL HD TV ได้เสถียรและไกลมากขึ้นแล้วนั้น ยังมาพร้อมกับช่องฟรีทีวีที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากเป็น 48 ช่อง แบ่งเป็น 24 ช่องบริการในกลุ่มธุรกิจ, 12 ช่องบริการสาธารณะ และ 12 ช่องกิจการบริการชุมชน ซึ่งเพิ่มการแข่งขันในวงการโทรทัศน์ได้มากเลยทีเดียว ซึ่งต้องมารอลุ้นกันว่ารายละเอียดช่องหลังจากการประมูลนั้นจะเป็นอย่างไร

ฟังแบบนี้แล้วหลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วจะต้องซื้อทีวีเครื่องใหม่ที่เป็นทีวีดิจิตอลหรือเปล่า?? คำตอบคือ..นั่นก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่กำลังมองหาทีวีเครื่องใหม่อยู่พอดี การเลือกซื้อทีวีดิจิตอลก็สามารถตอบโจทย์นี้ได้ แต่สำหรับผู้ที่มีทีวีเดิมอยู่แล้ว บางคนบอกว่าเพิ่งจะถอยมาใหม่ไม่กี่เดือนนี้เอง หรือยังไม่พร้อมที่จะทุ่มทุนเปลี่ยนทีวีทั้งเครื่องแบบนั้น ก็ยังมีอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่เรียกว่า กล่องรับสัญญาณ “Set Top Box” ซึ่งอุปกรณ์ตัวนี้จะทำหน้าที่ถอดรหัสสัญญาณดิจิตอล แล้วส่งภาพและเสียงให้อยู่ในรูปแบบที่ทีวีอนาล็อกเครื่องเดิมรับได้ โดยผ่านสาย HDMI, AV, หรือ RG6 เพียงเท่านี้ก็สามารถรับชมทีวีในระบบดิจิตอลได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็นกันได้แล้ว

ส่วนท่านที่กำลังจะซื้อทีวีเครื่องใหม่เร็วๆนี้ รออีกสักนิดซื้อทีวีที่มีสัญลักษณ์ “DVB-T2” ซึ่งรับสัญญานดิจิตอลได้เลยน่าจะคุ้มกว่าค่ะ

การส่งสัญญาณของทีวีมีอะไรบ้าง
เมื่อเทคโนโลยีด้านโทรทัศน์พัฒนามากขึ้น จึงเกิดการส่งสัญญารรูปแบบใหม่ขึ้นมาโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

1. ทีวีผ่านดาวเทียม ซึ่งข้อดีคือ สามารถดูได้หลายช่องมากขึ้น ครอบคลุมทั่วประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน แต่ต้องแลกมากับค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์ เช่น จานดาวเทียม, กล่องรับสัญญาณ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่หลักพันบาทขึ้นไป ตามคุณภาพของอุปกรณ์

2. เคเบิลทีวี เป็นการส่งสัญญาณตามสายเคเบิลที่พาดบนเสาไฟฟ้า ข้อดีคือ รับจำนวนช่องสัญญาณได้มาก และไม่เจอปัญหาสัญญาณขาดในกรณีฝนตก แบบทีวีผ่านดาวเทียม แต่มีปัญหาคือพื้นที่ให้บริการอาจจำกัดและ อาจต้องใช้กล่องรับสัญญาณแบบดาวเทียมร่วมด้วยในบางกรณี

3. ทีวีดิจิตอล ที่เป็นการส่งสัญญาณรูปแบบภาคพื้นแบบเดิม แต่ใช้การเปลี่ยนรหัสจากแอนะล็อคมาเป็นดิจิตอล ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น มีช่องทีวีมากขึ้น โดย 1 ช่องแอนะล็อก สามารถส่งสัญญาณดิจิตอลได้ถึง 40-50 ช่องเลยทีเดียว อีกทั้งปัญหาคลื่นรบกวนสัญญาณน้อยลง ส่งผลให้ภาพคมชัดมากขึ้นนั้นเอง

ทีวีดิจิตอลแตกต่างจากเคเบิลทีวีอย่างไร
ทีวีดิจิตอลใช้หลักการแบบเดียวกับทีวีแอนะล็อกในปัจจุบัน คือส่งสัญญาณภาพและเสียงไปในอากาศ ทุกคนสามารถดึงสัญญาณไปรับชมได้ไม่ปิดกั้น และไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายรายเดือน ไม่มีค่าใช้จ่ายแรกเข้าแบบเคเบิลทีวีหรือดาวเทียมทีวี ซึ่งช่วยเพิ่มตัวเลือกให้กับประชาชนผู้บริโภคอีกด้วย

ความแตกต่างระหว่าง ทีวีดิจิตอล DVB-T2 กับ จานดาวเทียม DVB-S2

  ทีวีดิจิตอล DVB-T2 จานดาวเทียม DVB-S2
1. ความชัดของภาพ เป็นระบบดิจิตอล ภาพชัดอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นช่อง HD ภาพก็ยิ่งชัดยิ่งขึ้นไปอีก เป็นระบบดิจิตอล ภาพชัดอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ เปลี่ยนกล่องก็จะดูได้แค่ระบบมาตราฐานSD
2. จำนวนช่องของระบบ 48 ช่อง มี HD 7 ช่อง ปัจจุบันมี 200 ช่อง แต่ในอนาคตคาดว่าจะมี มากกว่านี้ แต่ช่อง HD น่าจะมีอย่างจำกัดส่วนใหญ่เป็นช่องเสียรายเดือน
3. จำนวนช่อง HD มี HD 7 ช่อง ปัจจุบันมีเพียง 2-3 ช่อง แต่การเพิ่มของช่อง จะมีอย่างจำกัด เพราะต้องลงทุนสูง
4. ความสะดวกในการเข้าถึง ซื้อกล่องแล้วเสียบดูได้เลย หรือ ถ้าเป็นทีวี รุ่นใหม่ที่เปลี่ยนระบบแล้วเสียบก็ดูได้เลย ต้องติดจานดาวเทียม ถ้าติดเองไม่เป็นก็ต้องจ้างช่างมาติด
5. สัญญาณครอบคลุม ภายใน 3 ปี สัญญาณจะครอบคลุมทั่วประเทศ สัญญาณครอบคลุมทั่วประเทศ
6. อุปกรณ์ที่ต้องใช้ เครื่องรับสัญญาณ เสาอากาศ หรือทีวีดิจิตอลที่มีจูนเนอร์ในตัว จานดาวเทียม เครื่องรับสัญญาณ ทีวีทั่วไป
7. การสนับสนุนจากรัฐบาล สนับสนุนเต็มที่ มีคูปองส่วนลด ให้เพื่อให้เข้า ถึงทุกบ้าน ไม่สนับสนุนเท่าที่ควร โดยปล่อยให้เติบโตเอง
8. ข้อได้เปรียบ เข้าถึงได้ง่ายกว่า เวลาถ่ายทอดกีฬาช่องทาง นี้จะดูได้ในขณะที่ดาวเทียมจะจอดำ เข้าถึงยากกว่า ช่องSD มากกว่า แต่ช่องHD มีน้อยกว่า เวลาถ่ายทอดกีฬามักจะจอดำ อาจดูได้ผ่านช่องที่ต้องเสียเงิน
9. การดูนอกสถานที่ ต่อไปจะดูได้ง่ายขึ้นทั้งในรถ และ นอกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นทาง คอม หรือ Smartphone ดูได้เฉพาะในบ้าน ส่วนช่องทางอื่นยังเข้าถึง ได้ไม่ครบ หรือ แพร่หลายนัก
10. อนาคตของการเติบโต จะเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากหลายช่องจะ เลิกส่งแบบ Analog มาเป็น ดิจิตอลอย่างเดียว หากการส่งระบบทีวีดิจิตอลสมบูรณ์แล้ว ระบบดาวเทียมจะเติบโตคงที่ หรือน้อยลง

มีคำถามจากหลายๆคนที่ยังสงสัยว่า ถ้าที่บ้านติดตั้งอุปกรณ์ทีวีดาวเทียมและดูช่องทีวีดาวเทียมอยู่แล้ว จะรับสัญญาณทีวีดิจิตอลได้หรือไม่ คำตอบง่ายๆเลยครับว่า “ได้” แต่ระดับความคมชัดอยู่ที่มาตรฐานเท่านั้น ไม่ใช่ความคมชัดสูง เหมือนที่รับจากกล่องทีวีดิจิตอล (Set top box) เพราะในปัจจุบัน (พ.ศ.2557) ยังไม่ผู้ให้บริการสถานีดาวเทียมใด ส่งสัญญาณในระดับความคมชัดสูง แต่หากยังสงสัยว่าในอนาคตช่องดาวเทียมจะอัพเกรดเป็นความคมชัดระดับสูงหรือไม่ ก็ไม่มีใคคาดคะเนคำตอบได้เพราะค่าใช้จ่ายสูงที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นตัวแปรที่สำคัญ

แต่สุดท้ายผู้ที่จะตัดสินได้คือจำนวนแฟนๆ ของช่องรายการที่จะแข่งกันสร้างสรรค์กันออกมามากกว่า

บทสรุปของทีวีดิจิตอล
สามารถสรุปง่ายๆ ว่าทีวีดิจิตอลถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้แทนทีวีแอนะล็อก เนื่องจากรูปแบบการทำงานเหมือนกัน แต่คุณภาพดีกว่า มีจำนวนช่องมากกว่า อีกทั้งยังทำให้เพิ่มช่องทางให้ประชาชนได้รับข้อมูลจากรายการอื่นๆ ได้มากขึ้น แต่ก็มีปัญหาจากหลายส่วนด้วยกันถึงกรณีที่ต่างจังหวัดหากใช้ทีวีแบบเก่า จะสามารถรับชมสัญญาณดิจิตอลทีวีได้หรือไม่ทางออกของปัญหานี้คือ ทางรัฐจะแพร่ภาพทั้งสองระบบควบคู่กันไปสักระยะหนึ่ง และประกาศล่วงหน้าว่าจะมีการเปลี่ยนคุณภาพสัญญาณให้ประชาชนเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนแปลง อีกทางหนึ่งรัฐได้สนับสนุนงบประมาณให้ประชาชนซื้อกล้องแปลงสัญญาณแอนะล็อกเป็นดิจิตอลที่ถูกกว่าราคาท้องตลาด (ราว 300-500 บาท) เพื่อเร่งให้ประชาชนพร้อมใช้ระบบดิจิตอลมากขึ้นครับ

Categories:

Tags:

No responses yet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *